การพัฒนาวิชาชีพครู
สภาพปัจจุบันและปัญหาวิชาชีพครูในประเทศไทย
ครู คือ ผู้กำหนดคุณภาพประชากรในสังคม และคุณภาพประชากรในสังคม คือ
ตัวพยากรณ์ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา
วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม วิชาชีพครูจึงควรเป็นที่รวมของคนเก่ง
คนดี สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตน การดำรงชีวิต
และการชี้นำสังคมไปในทางที่เหมาะสม
จากสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน
วิชาชีพครูกลับเป็นวิชาชีพที่คนทั่วไปดูหมิ่นดูแคลน เป็นวิชาชีพที่รายได้ต่ำ ผู้ประกอบวิชาชีพครูยากจน
ผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูงและมีฐานะดี
ไม่ประสงค์จะให้บุตรหลานของตนศึกษาเพื่อออกไปประกอบวิชาชีพครู
เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม.๖ ก็ไม่ประสงค์ที่จะสมัครเรียนในสาขาวิชาชีพครู
ผู้สมัครเรียนในสาขาครูจึงมักเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
เมื่อไม่สามารถสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาชีพอื่นได้แล้วจึงจะสมัครเรียนเพื่อออกไปเป็นครู
ปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพครูอาจสรุปได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่
ดังนี้
๑. ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต
สถาบันผลิตครูไม่สามารถผลิตครูให้มีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตครูมีประสิทธิผลต่ำอาจสรุปได้ ๕ ประการดังนี้
๑.๑ คนเก่งไม่เรียนครู เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า
คนเก่ง ส่วนใหญ่ไม่สนใจเป็นครู
จากข้อมูลการเลือกเข้าเรียนต่อของผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปีการศึกษา
๒๕๓๙ ผู้สมัครส่วนใหญ่จะเลือกคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นอันดับสุดท้าย
มีเพียงร้อยละ ๑๙ ที่เลือกคณะครุศาสตร์เป็นอันดับ ๑ และนักศึกษาครู
มีผลการเรียนในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ
จากข้อมูลเกรดเฉลี่ยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักศึกษาครูในสถาบันราชภัฏ(ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูแหล่งใหญ่)
พบว่า มีเกรดเฉลี่ย ประมาณ ๒.๓ (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, ๒๕๔๐)
นอกจากนี้ นักศึกษาครูมักไม่เลือกเรียนวิชาเอกที่เป็นสาขาขาดแคลน เช่น
สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์
เพราะต้องใช้ความพยายามในการเรียนสูงกว่าสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์
(สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, ๒๕๔๐)
๑.๒ รัฐลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการผลิตบัณฑิตสาขาต่าง
ๆ มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำกว่าวิชาชีพอื่นๆ มาก
(สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, ๒๕๔๐) สถาบันผลิตครูส่วนใหญ่
จึงมีปัญหาความขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นต่อการผลิตครู ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
ขาดงบดำเนินการเพื่อพัฒนาคณาจารย์ และพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้
การผลิตครูดำเนินการโดยสถาบันของรัฐทั้งหมด
ถึงแม้กฎหมายเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาผลิตครูได้
แต่ยังไม่มีเอกชนรายใดดำเนินการเพราะไม่คุ้มทุน
๑.๓ กระบวนการเรียนการสอนเน้นทฤษฏีมากกว่าเน้นการปฏิบัติจริง ถ้าพิจารณาจากหลักสูตรการผลิตครูจะพบว่าหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่กำหนดจากส่วนกลางและผูกติดกับแนวคิดสากลมากกว่าท้องถิ่น
เน้นทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติจริง เน้นองค์ความรู้มากกว่าวิธีแสวงหาความรู้
วิชาที่สอนเป็นแบบแยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงและบูรณาการ
มีผลให้ผู้เรียนไม่ได้พัฒนาทักษะและวิธีการมองปัญหาในเชิงองค์รวม
กระบวนการเรียนการสอนเพื่อผลิตครูยังเน้นครูเป็นศูนย์กลาง
เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้มากกว่าการส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้
รักที่จะเรียนรู้ อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลฝ่ายเดียว
ผู้เรียนไม่มีส่วนร่วม และ
ที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนขาดการประสานสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของท้องถิ่นและชุมชน
ทำให้นักศึกษาครูไม่สามารถเรียนรู้
และพัฒนาวิชาชีพครูให้เหมาะสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของสภาพแวดล้อม ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้
สื่อ นวัตกรรม และแหล่งการเรียนรู้ในสถาบันผลิตครูไม่เอื้อให้นักศึกษาครู
แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเอง
การวัดผลและประเมินผลเน้นการสอบวัดเนื้อหาวิชาการมากกว่าการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ชี้นำแนวความคิดและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการเป็นครูในอนาคต
และที่สำคัญ
หลักสูตรการผลิตครูไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการผลิตครูรุ่นใหม่ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
มีความพร้อมทั้งความรู้ในเนื้อหาวิชาการ ความสามารถในการชี้นำความรู้
มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และมีคุณธรรม จริยธรรม
รวมทั้งสามารถปรับใช้เทคโนโลยีในวิชาชีพได้
๑.๔ ขาดระบบการประกันคุณภาพบัณฑิตครู เนื่องจากคุณภาพของบัณฑิตครูเป็นไปตามเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสภาประจำแต่ละสถาบันและไม่มีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
ติดตาม และประเมินคุณภาพบัณฑิตของสถาบันต่าง ๆ
ฝ่ายผลิตครูเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพการผลิตครูแต่เพียงผู้เดียว การประเมินคุณภาพบัณฑิตเน้นการท่องจำเนื้อหาสาระควบคู่กับระเบียบราชการมากกว่าการวัดคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นครู
๑.๕ ขาดการตรวจสอบคุณภาพการผลิตครูและสถาบันผลิตครู การประกันคุณภาพการผลิตครูและสถาบันผลิตครูเพิ่งเป็นที่ยอมรับ
และเริ่มดำเนินการมาไม่นานนัก การดำเนินการในปัจจุบันอยู่ในขั้นการสร้างหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ
ในช่วงที่
ผ่านมาจึงไม่มีการดำเนินการประกันคุณภาพการผลิตครูและสถาบันผลิตครูอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ สถาบันผลิตครูของรัฐมีจำนวนถึง ๑๑๔ แห่ง และอยู่ต่างสังกัดกัน
ส่งผลให้สถาบันผลิตครูขาดเอกภาพในนโยบายและมาตรฐานการผลิตครู
ประกอบกับการไม่มีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและติดตามประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของสถาบันผลิตครู
คุณภาพการผลิตครูจึงแตกต่างกันไปตามเกณฑ์การวัดและประเมินผลของแต่ละสถาบัน
๒. ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการใช้ครู
สาเหตุที่ทำให้การใช้ครูมีประสิทธิผลต่ำอาจสรุปได้ ๔ ประการดังนี้
๒.๑ ค่าตอบแทนครูต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ
ที่รับผิดชอบต่ออนาคตและความสงบเรียบร้อยของคนในชาติ เป็นต้นว่า อัยการ ตุลาการ
แพทย์ และตำรวจแล้ว วิชาชีพครูได้รับค่าตอบแทนต่ำ ผลการสำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
พบว่ามีครูเพียงร้อยละ ๕๐ ที่สามารถอยู่ได้อย่างประหยัดด้วยเงินเดือนครู
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, ๒๕๓๙) จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๓๙)
พบว่า ๙๕% ของครูไทยเป็นหนี้และภาวะหนี้สินนี้
ส่งผลให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนของตน
รวมทั้ง การที่รัฐไม่สามารถปรับ
เงินเดือนข้าราชการครูให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทำให้ครูส่วนใหญ่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากรายได้น้อยแต่ค่าครองชีพสูง
ครูบางส่วนต้องหารายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพเสริมต่างๆ ซึ่งบางครั้งเป็นการ
เบียดบังเวลางาน และส่งผลให้ครูเอาใจใส่ต่อการเรียนการสอนน้อยลง นอกจากนี้
ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลความเจริญยังต้องเสียสละเงินเดือนบางส่วนเพื่อช่วยเหลือนักเรียนและซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนด้วย
(สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกรมการฝึกหัดครู, ๒๕๓๖)
วิชาชีพครูจึงไม่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป
แม้กระทั่งผู้ที่เป็นครูหากมีทางเลือกอื่นก็เลือกที่จะไม่ประกอบอาชีพครู
นอกจากนี้การที่ระบบเงินเดือน สวัสดิการ และค่าตอบแทนของครูโดยทั่วไป
เป็นระบบเดียวกันไม่มีความแตกต่างระหว่างครูดี ครูเก่ง กับครูเฉื่อยชาขาดความ
รับผิดชอบ สภาพเช่นนี้ทำให้ครูดีมีแนวโน้มจะออกจากวิชาชีพมากขึ้น ส่วนครู
ที่ยังคงอยู่ในระบบก็ขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนและพัฒนางาน
ส่งผลให้ผู้สมัครเรียนครูสาขาขาดแคลนซึ่งเรียนยากกว่าสาขาอื่นยิ่งลดน้อยลง
เพราะครูทุกสาขาวิชาได้รับ ผลตอบแทนในระบบเดียวกัน
๒.๒ ระเบียบปฏิบัติไม่เอื้อต่อการพัฒนางานและการพัฒนาตนเอง ครู
ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทำให้ครูมีสถานภาพมั่นคง ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเอง
ระเบียบ กฎเกณฑ์ การบริหารของระบบราชการสะกัดกั้นเสรีภาพความก้าวหน้าทางวิชาการ
และไม่กระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของครู
ระบบงบประมาณในปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้ครูและโรงเรียนมีส่วนกำหนดระบบบริหารไม่ยืดหยุ่นให้ครู
แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ครูรู้สึกไร้พลังอำนาจการควบคุมงานของตน
การบริหารสถานศึกษาใช้ระบบการบังคับบัญชาแบบราชการตามลำดับขั้น
หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งการเบ็ดเสร็จเป็นระบบอำนาจนิยม ผลคือ
สถานศึกษาขาดบรรยากาศของชุมชนวิชาการที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองของครู
สภาพการร่วมมือทำงานร่วมกัน รับผิดชอบของครูมีน้อย
ส่วนผู้ประกอบอาชีพครูในสถานศึกษาเอกชนก็ขาดความ มั่นคงในวิชาชีพ ขาดความก้าวหน้า
ค่าตอบแทนต่ำแต่ภาระงานสูง และขาดอิสระในการปฏิบัติงาน ทำให้พัฒนาตนเองได้น้อย
เกิดสภาพขาดขวัญกำลังใจ ท้อแท้ มากกว่าครูของรัฐ
๒.๓ ขาดระบบการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิผล การติดตาม
ตรวจสอบ
และประเมินผลการปฏิบัติงานของครูในปัจจุบันดำเนินการโดยผู้บังคับบัญชาของครู ซึ่งก็ทำตามนโยบายผู้บังคับบัญชาซึ่งเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย
ระบบ เกณฑ์ วิธีการและประสิทธิภาพของการประเมินมีความแตกต่างกันไปตามคุณภาพ
ความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาแต่ละคน ผู้ใกล้ชิด
และได้รับผลจากการปฏิบัติงานของครูโดยตรง เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน รวมทั้งเพื่อนครูไม่มีส่วนในการประเมินครู
และ ผลการประเมินก็ไม่มีความหมายในทางให้คุณให้โทษต่อครูมากนัก ครูที่ได้รับการ
คัดเลือกเป็นครูดีเด่นของโรงเรียนก็ไม่เป็นหลักประกันว่าจะได้รับการเลื่อนเงินเดือน
๒ขั้น ดังนั้น ในสภาพความเป็นจริง จึงมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของครูอย่างจริงจังน้อยมากและยังไม่เป็นที่ยอมรับจากครูโดยทั่วไปเท่าที่ควร
ระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
จึงยังไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาครูและพัฒนาการศึกษา
๒.๔ ชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ครูน้อย ปัจจุบันผู้ใช้ครูมีอำนาจและผูกขาดการคัดเลือก
การใช้ การประเมินและพัฒนาครูแต่ฝ่ายเดียว
ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของครูโดยตรง
ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้
การคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้งครู เป็นอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานส่วนกลาง
คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และกรมเจ้าสังกัดครู
กรมเจ้าสังกัดบางกรมได้กระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลให้จังหวัดหรือสถานศึกษาในระดับหนึ่ง
แต่อำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษายังเป็นของส่วนกลาง
การวิ่งเต้นเอาตำแหน่งโดยอาศัยอำนาจนอกระบบจึงปรากฏให้เห็นเสมอ
การที่ท้องถิ่นและชุมชนไม่มีส่วนรับรู้และพิจารณาเลือกสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนในท้องถิ่นของตน
ทำให้การจัดการศึกษาในโรงเรียนถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของโรงเรียนหรือรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
ชุมชนเป็นเพียงผู้รับบริการและไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา
การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน การตรวจสอบ ประเมินผล
และให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาการศึกษาจึงไม่ก้าวไกลเท่าที่ควร
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาในปัจจุบัน สถานศึกษาดำเนินการไปตามนโยบาย
และแผนจากส่วนกลาง หลักสูตร เนื้อหาสาระในการเรียนการสอนก็มาจากส่วนกลาง
ชุมชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ครูเองก็ไม่สนใจที่จะเรียนรู้จากชุมชน
และไม่นำเอาวิถีชีวิตในชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน
ส่งผลให้สถานศึกษาและครูแยกตัวออกจากชุมชน
ทำให้ครูสอนในสิ่งที่ไม่สอดคล้องและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนได้ นักเรียนเมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่ได้ทำงานในชุมชนนั้น
ต้องอพยพเคลื่อนย้ายหางานทำที่อื่น ความแข็งแกร่งของชุมชนถูกทำลาย
ในส่วนของครูก็ขาดความรู้เกี่ยวกับชุมชน ขาดการพัฒนาตนเอง
ขาดสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ส่งผลให้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเท่าที่ควร
๓. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ
สาเหตุที่ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิผลต่ำอาจสรุปได้ ๖ ประการ
ดังนี้
๓.๑ ผู้บริหารโรงเรียนมีความรู้และความสามารถทางการบริหารต่ำ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(๒๕๓๙)
พบว่า ผู้บริหารโรงเรียน ส่วนใหญ่มีพื้นความรู้ระดับปริญญาตรีและปฏิบัติราชการโดยเฉลี่ย
ประมาณ ๒๐-๓๐ ปี มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอในการบริหาร
ผู้บริหารโรงเรียนบริหารโดยยึดความเห็นของตนเองเป็นใหญ่
ให้ครูมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนต่ำ
ไม่ให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน การประชุมระหว่างผู้บริหารโรงเรียน
ครู
และผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะการชี้แจงข้อเท็จจริงมากกว่าการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา
ครู ผู้ปกครองและผู้แทนชุมชนจึงแทบไม่มีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน
ขวัญและกำลังใจของครูส่วนใหญ่จึงอยู่ในระดับต่ำ
๓.๒ ผู้บริหารโรงเรียนไม่สนใจพัฒนาตนเอง เป็นที่ทราบและยอมรับกันโดยทั่วไปว่า
เส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนขึ้นกับอำนาจสั่งการของนักการเมือง
ดังนั้น
แทนที่ผู้บริหารจะสนใจพัฒนาตนเองเพื่อให้การบริหารงานโรงเรียนเป็นไปเพื่อสร้างขวัญ
กำลังใจกับครูในโรงเรียน หรือเพื่อพัฒนาครูและการศึกษาในโรงเรียน
ผู้บริหารกลับเสียเวลาไปกับการประจบหรือทำงานให้นักการเมือง
ความใส่ใจในการพัฒนาตนเองเพื่อบริหารงานในหน้าที่รับผิดชอบจึงมีน้อย
และมิได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาและบริการทางการศึกษาของโรงเรียนอย่างแท้จริง
๓.๓ ขาดระบบการตรวจสอบและประเมินผลผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล ปัญหาด้านการประเมินผลที่ผู้บริหารประสบมีลักษณะคล้ายกันกับปัญหาของครู
ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความคิดว่าการตรวจสอบและประเมิน คือ การจับผิด
การตรวจสอบและประเมินผู้บริหารโรงเรียนจึงดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีความผิดชัดเจน
หรือเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
การประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนางานมีค่อนข้างจำกัด
การปรับปรุงและพัฒนางานอย่างเป็นระบบในโรงเรียนจึง ไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
๓.๔ ผู้ปกครอง ชุมชน
และภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนต่ำ เนื่องจากอำนาจรัฐเข้าไปมีบทบาทในการบริหารการศึกษา
และบริหารงานบุคคลในโรงเรียนค่อนข้างสูง ทั้งทำหน้าที่กำหนดบทบาทของการบริหาร
และผู้ทำหน้าที่ในการบริหารโรงเรียน โดยมิได้กระจายอำนาจในส่วนนี้ให้แก่ชุมชน
ส่งผลให้ผู้ปกครอง ชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนต่ำ
สิ่งที่ชุมชนจะรับรู้เกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนอย่างมากที่สุด คือ
การรับทราบนโยบายของโรงเรียน
หรือมีส่วนร่วมโดยให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือโรงเรียนตามความต้องการของโรงเรียนเท่านั้น
๓.๕ ขาดทรัพยากรเพื่อการบริหารโรงเรียน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
รัฐเป็นฝ่ายเดียวที่สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการบริหารโรงเรียน
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนโรงเรียน
และจำนวนครูกว่าหกแสนคนที่มีอยู่งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เกือบทั้งหมด จึงเป็น
งบประมาณเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของครู
งบประมาณเพื่อการบริหารโรงเรียนโดยเฉพาะเพื่อให้โรงเรียนได้พัฒนาบุคลากรมีน้อยมาก
นอกจากได้รับงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอแล้ว
ในสภาพปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ประสานงานเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการระดมทรัพยากร
ความเชี่ยวชาญจากชุมชน เอกชน เพื่อการบริหาร
เป็นผลให้ครูในโรงเรียนไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และการบริหารงานในโรงเรียนก็ไม่สามารถก้าวทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ
ที่น่าจะนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ
๓.๖ ขาดสถาบันพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนระดับมืออาชีพ ปัจจุบันมีสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ
มีหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนา ผู้บริหารได้จำนวนจำกัด หลักสูตรฝึกอบรม
ผู้บริหารโรงเรียนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ไม่เข้มข้นเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริหารกลายเป็นผู้บริหารมืออาชีพได้
เพื่อผ่อนคลายปัญหาข้างต้น โรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาได้ศึกษา
วิเคราะห์ วิจัย กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหาไปแล้วระดับหนึ่ง
ตัวอย่างของผลการศึกษา วิจัย และแนวทางการแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินการอยู่
และที่กำลังจะดำเนินการในอนาคต
การแก้ปัญหาวิชาชีพครูในประเทศไทย
รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อการแก้ปัญหาวิชาชีพครู
ที่ปรากฏเห็นเด่นชัด อาจดูได้จากกฎหมาย นโยบาย และแนวทางการดำเนินงาน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
๑. กฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพครู
๒. นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับวิชาชีพครู
๓. แผนพัฒนาการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครู
๔. การปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทองค์กรวิชาชีพครู
๑.กฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพครูที่สำคัญและใช้อยู่ในปัจจุบันมี ๒ ฉบับ
คือ
๑.๑
พระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘
พระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘ กำหนดให้มีคุรุสภาในกระทรวงศึกษาธิการ
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ประกอบด้วย
๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
๒. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน
๓. อธิบดีและหัสหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการทุกกรมเป็นกรรมการ
๔. ผู้แทนข้าราชการครูจำนวน
๖ คน เป็นกรรมการ
๕. ผู้แทนพนักงานครูเทศบาล
๑ คน เป็นกรรมการ
๖. ผู้แทนครู
กทม. ๑ คน เป็นกรรมการ
๗. ผู้แทนครูโรงเรียนเอกชน
๒ คน เป็นกรรมการ
๘. เลขาธิการคุรุสภาเป็นกรรมการและเลขานุการ
เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลพระราชบัญญัติครู
พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้กำหนดให้คุรุสภาซึ่งทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไป
หลักสูตร แบบเรียน อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน การฝึกอบรม
การวัดและประเมินผลการศึกษา การนิเทศการศึกษา
และเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดการศึกษา
๒. ควบคุมและสอดส่องจรรยา มรรยาท และวินัยของครู
พิจารณาโทษครูผู้ประพฤติผิด และพิจารณาคำร้องทุกข์ของครู
๓. พิทักษ์สิทธิ์ของครูภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
๔. ส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการต่างๆตามสมควร
๕. พัฒนาความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพของครู
ด้วยเหตุที่คุรุสภาได้รับงบประมาณจากรัฐบาลค่อนข้างจำกัด
การดำเนินงานที่ผ่านมาต้องอาศัยเงินรายได้จากการประกอบธุรกิจขององค์การค้าคุรุสภา
(ศึกษาภัณฑ์)
ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักธุรกิจขององค์การค้าคุรุสภามากกว่ารู้จักคุรุสภา
มีผลทำให้คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาใส่ใจกับการหารายได้ให้กับคุรุสภามากกว่าการส่งเสริม
สนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู
ซึ่งเป็นภารกิจหลักของคุรุสภาและของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา
นอกจากนั้นองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการและวิธีการได้มาซึ่งกรรมการก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการปฏิบัติภารกิจพัฒนาวิชาชีพครูของคุรุสภา
กรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงของแต่ละกรม
ซึ่งต่างมีภารกิจประจำค่อนข้างรัดตัว
จึงยากที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะอุทิศตนให้กับการคิดหามาตรการ
แนวทางที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหา ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะติดตาม
ประเมินผลการนำมาตรการ แนวทางไปใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพครู
เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างแท้จริง
หลายคนคาดหวังว่ากรรมการอำนวยการคุรุสภาจากผู้แทนครูสังกัดหน่วยงานต่างๆ
จะทำหน้าที่ผู้นำในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครู แต่ที่ผ่านมา
ผู้แทนครุที่มาจากการเลือกตั้งมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์
ความร่วมมือและการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งจากครู ผู้ปกครอง
และบุคคลในวิชาชีพอื่น
ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิชชาชีพครูอย่างแท้จริงจึงมีไม่มากนัก
๑.๒ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการครู
ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของข้าราชการครู โดยเฉพาะคณะกรรมการข้าราชการครู
ประกอบด้วย
๑.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
๒.เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการ
๓.เลขาธิการคุรุสภาเป็นกรรมการ
๔.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ค.ร.ม. แต่งตั้งจาก
บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งข้าราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเคยรับราชการตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี
จำนวน ๕ คน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ๓ คนเป็นกรรมการ
๕.ผู้แทนข้าราชการครู จำนวน ๗ คนเป็นกรรมการ
๖.เลขาธิการ ก.ค. เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการข้าราชการครู
อาจเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการ
คณะกรรมการข้าราชการครูมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเกี่ยวกับ
นโยบายการบริหารงานบุคคล และการจัดระบบราชการในหน่วยงานทางการศึกษา
๒.ออกกฎ ก.ค. และระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.ค.
เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
๓.
ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ มติของ
ก.ค. เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับได้
๔. ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ แนะนำ ชี้แจง
เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาและกรมปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากหน่วยงานทางการศึกษาและกรม
ให้ผู้แทนหน่วยงานทางกราศึกษาและกรม ข้าราชการหรือบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง
และให้มีอำนาจระเบียบให้หน่วยงานทางการศึกษาและกรมรายงานเกี่ยวกับการสอบ การบรรจุ
การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการ
ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงในลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งและเกี่ยวกับทะเบียนประวัติของข้าราชการครูไปยัง
ก.ค.
๕.รายงานนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ปรากฏว่า หน่วยงานทางการศึกษา กรม
อ.กค.กรม หรือ อ.ก.ค. จังหวัดใด หรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติการโดยไม่เหมาะสม
เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้สั่งการต่อไป
๖. รักษาทะเบียนประวัติข้าราชการครู
๗.รับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครู
และกำหนดอัตราเงินเดือนที่ควรได้รับ โดยคำนึงถึงอัตราเงินเดือนตามที่คณะกรรรมการข้าราชการพลเรือนกำหนดสำหรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเดียวกัน
๘. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
๙. ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่น
ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติข้าราชการครู
พ.ศ. ๒๕๒๓ กำหนดให้ ก.ค.
ทำหน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู มีจำนวนประมาณ ๕
แสนกว่าคน แต่บุคคลากรและงบประมาณของสำนักงาน ก.ค. มีจำนวนจำกัด
จึงทำให้การปฏิบัติภารกิจ ตามที่กฎหมายบัญญัติของ ก.ค. ไม่มีประสิทธิผล ข้าราชการครูมักเบื่อหน่ายกับความล่าช้า
ในการดำเนินงานและสั่งการในเรื่องต่างๆ
หน่ายคนเบื่อหน่ายกับการรวบอำนาจและลงลึกในรายละเอียด
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ค. หลายคนเห็นว่า
หน้าที่หลายอย่างของ ก.ค. ควรจะได้มีการกระจายอำนาจให้กรม หรือสถานศึกษาเป็นผู้ตัดสิน
แต่ ก.ค. ก็ยังรวบอำนาจเอาไว้อยู่ นอกจากนั้น หน้าที่บางอย่างเป็นต้นว่า
การรักษาทะเบียนประวัติครู การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ก็ไม่ควรเป็นหน้าที่ของ ก.ค.
ต่อไป แต่ ก.ค. ควรมอบหน้าที่ดังกล่าวให้กับกรมต่างๆทำหน้าที่แทน
การที่กฎหมายกำหนดภารกิจให้ ก.ค.
ต้องปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูผ่านสำนักงาน
ก.ค. ซึ่งตั้งอยู่ที่ส่วนกลาง
มีผลทำให้การบริหารงานบุคลผูกติดกับรายงานที่อยู่ในรูปเอกสาร
ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
นอกจากนั้น
การที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ก.ค. โดยตำแหน่ง
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจอื่นค่อนข้างมาก
การนัดเวลาประชุมในเรื่องสำคัญต้องเลื่อนตามตารางปฏิบัติภารกิจเฉพาะหน้าของรัฐมนตรี
ทำให้ฝ่ายเลขานุการกำหนดตารางประชุมล่วงหน้าลำบาก บ่อยครั้งการประชุมนัดสำคัญต้องเลื่อนไปไม่มีกำหนด
เพราะต้องรอนัดหมายจากรัฐมนตรี
ด้วยเหตุที่กรรมการ
ก.ค. ประกอบด้วยข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นส่วนใหญ่
นโยบายการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู
จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและความปรารถนาของตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นสำคัญ
กรรมกาสร ก.ค. จากผู้แทนครูไม่เห็นด้วยกับความเห็นของรัฐมนตรีในหลายๆเรื่อง
แต่โดยวัฒนธรรมของคนไทยแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้ข้าราชการครู
ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล้าเสนอความเห็นขัดแย้งและท้าทายความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
แม้ว่าการติดตามการประเมินผลการปฏิบัติงานข้าราชการครูเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของงานบริหารงานบุคคล
แต่ในทางปฏิบัติการประเมินผลการปฏิบัติงานข้าราชการครูมักกระทำเฉพาะในช่วงของเงินเดือนเพิ่มประจำปีให้แก่ข้าราชการครู
ซึ่งมักจะถูกครูทั่วไปตำหนิเสมอว่า “ไม่เป็นธรรม เล่นพรรคเล่นพวก”
และไม่สัมพันธ์กับความสามารถทางการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆของผู้เรียน
นักเรียนและผู้ปกครองไม่มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของครู
รายงานการประเมินผลจึงมักขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ครูใหญ่
หรือผู้อำนวยการโรงเรียนเสนอเป็นหลัก
ครูส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกว่าความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นอยู่กับผลการประเมินของผู้บริหารโรงเรียนมากกว่าความสามารถในการเรียนของผู้เรียน
พระราชบัญญัติครู
พ.ศ. ๒๔๘๘ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓
มีเจตนาต้องการให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง
ต้องการเห็นผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความขยันอดทน เสียสละ ตั้งใจ อบรมสั่งสอน
พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบฉบับที่ดีให้แก่ศิษย์
ทั้งนี้ดังจะเห็นได้จากจรรยาบรรณครูทั้ง ๑๑ ข้อที่ประกาศใช้ภายใต้บทบัญญัติพระราชบัญญัติครู
พ.ศ. ๒๔๘๘ และวินัยข้าราชการครูที่ปรากฏในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ.
๒๕๒๓
ในส่วนของการดำเนินการเพื่อการออกใบประกอบวิชาชีพครูนั้น
พบว่า คุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครูตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘ มีความพยามในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
โดยมีการดำเนินการยกร่างแก้ไข ปรับปรุงบทบัญญัติของพระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘
ให้เอื้อต่อการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูถึง ๕ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พ.ศ.
๒๕๓๑ พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ศ. ๒๕๓๘ แต่เมื่อนำร่างแก้ไขเข้าไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
ก็มีกลไกทางการเมืองในการยุบสภาทุกครั้ง จึงยังไม่ได้รับการพิจารณา
(เอกสารประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา
เรื่องการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู)
อย่างไรก็ตาม
สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันข้าราชการครูเป็นจำนวนมากไม่ใส่ใจกับจรรยาบรรณและวินัยข้าราชการครู
มีการฝ่าฝืนวินัยและปฏิบัติตนผิดจรรยาบรรณครูให้เห็นอยู่บ่อยๆ
มาตรการป้องกันการฝ่าฝืนวินัย จรรยาบรรณ
และมาตรการลงโทษที่มีประสิทธิผลกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเช่น การบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องมีใบอนุญาตประกอบการสอนจึงควรได้รับการพัฒนา
และนำมาใช้ในโอกาสต่อไป
๒.
นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูของไทย
การให้ความสำคัญแก่วิชาชีพครูได้ปรากฏในนโยบายรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย
ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ นโยบายในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาและสังคมของรัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สำคัญ
เช่น
รัฐบาลนายอานนท์
ปันยารชุน (๒๕๓๔)
มองเห็นความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพครูโดยได้กำหนดนโยบายส่วนนี้ว่า
วางมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพโดยเฉพาะในสาขาวิชาที่มีความต้องการสูง
รัฐบาลนายชวน
หลีกภัย (๒๕๓๕) กำหนดนโยบายในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูว่า
จะพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพอย่างแท้จริง
โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้ตลอดจนการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาทุกระดับ
เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจในอาชีพ
รัฐบาลนายบรรหาร
ศิลปอาชา (๒๕๓๘) กำหนดนโยบายด้านการผลิตและการพัฒนาครูไว้โดยเฉพาะดังนี้
๑)ปฏิรูปการผลิตครูและพัฒนาครูประจำการอย่างเป็นระบบ
และเสริมสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเร่งพัฒนาครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนเป็นลำดับแรก
และเร่งพัฒนาในด้านคุณธรรมและจริยธรรม
๒)ดำเนินการด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจ
และความมั่นคงให้กับครู และพัฒนาองค์กรวิชาชีพครูในสาขาวิชาต่างๆในท้องถิ่น
รวมทั้งพัฒนากองทุน กาญจนาภิเษก และระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับให้ครูกู้โดยจ่ายดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพครู
รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (๒๕๓๙) ประกาศว่า
รัฐจะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา
รวมทั้งเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินครู
และล่าสุด รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (๒๕๔๐)
ได้ประกาศแนวทางในการประกอบวิชาชีพครูว่า
จะเร่งพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับเพื่อให้ครูได้ทำงานอย่างมีเกียรติ
โดยปฏิรูปกระบวนการผลิตครู และการพัฒนาครูเน้นการผลิตในสาขาขาดแคลน
ตลอดจนสร้างเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการยกย่องให้รางวัลครุที่ดีและเก่ง
มีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยส่งเสริมสวัสดิการของครู
จากนโยบายของหลายรัฐบาลที่กล่าวถึงข้างต้น
ย่อมบ่งบอกให้พวกเราทั้งหลายทราบว่า
ปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพครูเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาช้านานรัฐบาลในอดีตทุกรัฐบาลรับทราบและตระหนักในปัญหาได้พยายามมองหาแนวทางและมาตรการเพื่อการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
และรัฐบาลเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องระดมทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ทั้งในท้องถิ่นและสากลมาร่วมแก้ปัญหา
ด้วยเหตุที่รับบาลที่ผ่านมามีเวลาในการบริหารประเทศค่อนข้างสั้น
และไม่ต่อเนื่อง นโยบายที่ประกาศออกไปจึงขาดการนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผล
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแต่ละครั้ง
รัฐบาลจึงต้องเริ่มต้นร่างนโยบายใหม่อยู่เสมอ ส่วนนโยบายเก่ามักจะถูกเก็บไว้ก่อน
ไม่นำมาสานต่อ
ความตั้งใจในการแก้ปัญหาวิชาชีพครูของแทบทุกรัฐบาลในอดีตจึงไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจากการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐
บทบัญญัติมาตรา ๘๑ แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ระบุว่า
มาตรา ๘๑ รัฐต้องจัดการศึกษา อบรม
และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรมจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ
ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสร้างเสริมความรู้
และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่างๆ
เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
พัฒนาวิชาชีพครูและส่งเริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒธรรมของชาติ
จากมาตรา ๘๑ ที่บัญญัติให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ
และยังบัญญัติต่อไปอีกว่า กฎหมายการศึกษาแห่งชาติต้องบัญญัติให้ฝ่ายบริหารเร่งรัด
ดำเนินการให้มีการพัฒนาวิชาชีพครู
การกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการผลิต การพัฒนาการใช้ การส่งเสริม
และการสนับสนุนครูจึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ประกาศใช้นี้
การมีกฎหมายการศึกษาและมีบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาชีพครูไว้โดยเฉพาะ
ย่อมเป็นหลักประกันพัฒนาวิชาชีพครูให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครุที่ยั่งยืนและถาวร
และเป็นที่หวังว่ากฎหมายการศึกษาที่จะประกาศใช้ในเร็ววันนี้จะทำให้ประเทศไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการพัฒนาวิชาชีพครู
๓. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
และการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครู
๓.๑ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔)
เน้นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพครู ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต การใช้
และการส่งเสริมพัฒนาครู โดยได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ดังนี้
๑) สร้างปัจจัยและโอกาสให้คนดี คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพครูอาจารย์ เช่น
การปรับปรุงระบบการคัดเลือกผู้รับทุน การปรับปรุงระบบตำแหน่ง
การเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถอย่างอิสระ
ควบคู่กับการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและเนื้อหาสาระ
ให้ครูอาจารย์เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
และมีการทดลองปฏิบัติจริงมากขึ้น
๒) เร่งรัดให้มีการพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากร
โดยฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งพัฒนาให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแบ่งเบาภาระ
และสนับสนุนการปฏิบัติงาน
๓) สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมขวัญกำลังใจในการทำงานของครู อาจารย์
โดยการสร้างทางเลือกและความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เปิดกว้างหลากหลาย
ให้การยกย่องเกียรติคุณ
ตลอดจนการประเมินการสอนเพื่อนำไปประกอบการส่งเสริมความก้าวหน้าและสวัสดิการต่างๆ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ เน้นว่าคนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
ถ้าเราพัฒนาคนได้สำเร็จ การพัฒนาด้านอื่นๆก็จะเกิดขึ้นตามมา
หรืออาจกล่าวในอีกทำนองหนึ่งได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างจะสำเร็จ
ถ้าคนได้รับการพัฒนาและนำความรู้ ทักษะ ความคิด
และประสบการณ์ที่ได้รับจากการพัฒนาไปแก้ไข และพัฒนาความรู้ใหม่ขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้ง
การพัฒนาคนจะสำเร็จไม่ได้ถ้าครูและวิชาชีพครูไม่ได้รับการพัฒนาและยกย่อง
๓.๒ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
เพื่อเป็นกอบและแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพครู แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
กำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับครูและบุคคลากรทางการศึกษา ปฏิรูปการฝึกหัดครู
และการพัฒนาครูประจำการ โดยมุ่งให้เป็นการพัฒนาวิชาชีพเฉพาะ
เพื่อสร้างจิตสำนึกของความเป็นครู
พัฒนาความรู้ความสามารถทั้งทางวิชาชีพครูและวิชาการให้ได้มาตรฐานและยกฐานะวิชาชีพครูให้สูงขึ้น
ทั้งนี้เพื่อให้แนวนโยบายดังกล่าวบรรลุผล จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิต
การใช้ การพัฒนา และส่งเสริมครู และวิชาชีพครูไว้ดังนี้
๑)พัฒนาระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาวิชาชีพครู
เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความสนใจ ความถนัด และความตั้งใจจริง
มาเรียนครูและประกอบอาชีพครู พร้อมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพอื่นมาประกอบอาชีพครู
โดยให้ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพครูเพิ่มเติมก่อนประจำการ
๒)พัฒนากระบวนการฝึกหัดครู การอบรม พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
โดยเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติและการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม
ความสามารถในการสอนและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์
การแสวงหาความรู้และการเรียนรู้ด้วยตนเอง การริเริ่มสร้างสรรค์ การสร้าง
การประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา
ตลอดจนการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชน การฟื้นฟู การอนุรักษ์
และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของประเทศ
๓)ส่งเสริมให้ครุมีบทบาทเป็นผู้นำทางความคิด
และเป็นผู้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนประสานแหล่งความรู้
วิทยาการสากลกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการถ่ายทอด
แลกเปลี่ยนและกระจายความรู้อย่างกว้างขวาง
๔) จัดอัตรากำลังของหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆให้เหมาะสมกับปริมาณงาน
เพื่อให้การใช้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๕) พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของครูให้เหมาะสมกับวิชาชีพ
พร้อมทั้งให้มีการกำหนดระเบียบและวิธีการ เพื่อยกฐานะอาชีพครู
๖) จัดให้มีการกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐาน
และการปฏิบัติวิชาชีพตามจรรยาวิชาชีพครู
โดยการพัฒนาองค์กรวิชาชีพให้เข้มแข็งและให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่มีกฎหมายรองรับ
๓.๓ แผนหลักการปฏิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (มติ
ค.ร.ม. ๕ มีนาคม ๒๕๓๙) เพื่อให้การปฏิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครูประจำการ
และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู มีเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
จึงได้กำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงใน ๕ ประเด็นหลัก คือ
๑. การสรรหาคนเข้าเรียนวิชาชีพครู
๒. การพัฒนาคณาจารย์ทางคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
๓. การปฏิรูปการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู
๔. การพัฒนาครูประจำการ
๕. การจัดตั้งราชวิทยาลัยคุรุศาสตร์
เพื่อให้แผนหลักการปฏิรูปการฝึกหัดครูฯสามารถดำเนินการไปได้สำเร็จนั้น
รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมือง ให้ปรากฏแก่สาธารณชน
ในอันที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณที่คล่องตัวและเพียงพอ
รวมทั้งการอนุมัติจัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการปฏิรูปการฝึกหัดครู
พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สปค.)
๓.๔ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔)
เพื่อให้การพัฒนาวิชาชีพครูมีความต่อเนื่อง
และเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพครู แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ
ฉบับที่ ๘ กำหนดแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิต การใช้
การพัฒนา ส่งเสริมครูและวิชาชีพครูเพิ่มเติมต่อเนื่องจากแผนหลักการปฏิรูปการฝึกหัด
ครูฯดังนี้
๑) เพิ่มทุนการศึกษาในโครงการพิเศษต่างๆ ให้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๕๐
ของจำนวนครู อาจารย์ที่เกษียณอายุในแต่ละปี
๒)เพิ่มปริมาณการผลิตครู
อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพียงพอกับความต้องการ
และมีการรับผู้สำเร็จอาชีวะศึกษาเข้ามาเรียนวิชาชีพครูให้มากขึ้น
๓) มีการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง
โดยครูทุกคนต้องได้รับการพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ครู อย่างน้อยในทุกๆ ๕
ปี
๔) สนับสนุนและให้ทุนการศึกษาดูงานแก่ครูชั่ง
เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
๕) มีการปรับปรุงระบบสรรหาคนเข้าเรียนวิชาชีพครู ระบบตำแหน่ง
และการประเมินผลบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งครู
๖) มีการจัดสวัสดิการให้ครูในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ครูสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
เพื่อให้การนำนโยบายในแผนการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔)
ไปปฏิบัติให้บังเกิดผล คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
ได้เสนอมาตรการเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครูดังนี้
๑. ปรับระบบการผลิตครูโดยสรรหาคนเก่งและดีเข้าเรียนวิชาชีพครู
ปฏิรูปการเรียนการสอนในการผลิตครู เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ
และเร่งรัดการผลิตครูสาขาที่ขาดแคลนให้เพียงพอ
๒. อบรมและพัฒนาครูประจำการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
และเร่งปรับระบบการพัฒนาผู้บริหารการศึกษาให้มีความสามารถในการบริหารและจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
๓. ปรับปรุงระบบการบริหารบุคลากรและระบบสวัสดิการ โดยปรับปรุงแก้ไข กฎ
ระเบียบการบริหารงานบุคลากรเพื่อสนับสนุนครูเก่งและดี
และปรับปรุงระบบสวัสดิการในสถาบันทางการศึกษาทุกระดับให้เหมาะสม
เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจในอาชีพแก่ครูฯลฯ
๓.๕ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
(พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๕๐)
เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล
และสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาการศึกษา
กระทรวงศึกษาการได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปครูไว้ดังนี้
๑.
สร้างจิตสำนึกในความรับผิดชอบของครู ผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง
๒.
ในการประเมินความก้าวหน้าของครู
ให้มุ่งเน้นที่การวัดประสิทธิภาพของผลการปฏิบัติงานโดยเฉพาะคุณภาพการเรียนของผู้เรียน
๓.
ให้ครูทุกคนได้เพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่องทั่วถึง
และทันต่อการเปลี่ยนแปลง
สนับสนุนให้ครูทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี
โดยในทุก ๒ ปี ต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย ๑ ครั้ง
ทั้งการอบรมของกระทรวงศึกษาธิการและกรมต้นสังกัด และการอบรมของสถาบันอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวุฒิบัตรรับรอง
ตลอดจนการอบรมทางไกล การเข้าประชุมสัมมนา และการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ
ให้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่และให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของผลการปฏิบัติงานของครูด้วย
๔.
ให้ครูเลือกแผนการสอนหรือพัฒนาให้เหมาะสมกับผู้เรียนเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนสามารถสร้างและพัฒนาความรู้ได้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง
๕.
ให้ครูที่สังกัดส่วนราชการต่างๆในกระทรวงศึกษาธิการสามารถทำการสอนในสถานศึกษา
ทั้งในและนอกสังกัดได้มากกว่า ๑ แห่ง ทั้งนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา
ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ และให้นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของครู
ในการบรรจุครูใหม่ให้นำประสบการณ์ของครูมาพิจารณาประกอบการกำหนดเงินเดือนด้วย
๖.
กำหนดคุณสมบัติและเปิดโอกาสให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูชาวบ้าน
ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน และส่วนราชการต่างๆรวมทั้งผู้เกษียณอายุราชการมาสอนในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
โดยมีค่าตอบแทนให้ตามความเหมาะสม
๗.
แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยการบรรจุแต่งตั้งครูให้ครบทุกตำแหน่ง
ตามแผนอัตรากำลังของแต่ละสถานศึกษา การเกลี่ยอัตรากำลังครู และการลดจำนวนครูช่วยราชการให้คงเหลือน้อยที่สุด
สำหรับครูผู้สอนวิชาขาดแคลนให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ
อีกทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่มีความพร้อมในการเปิดสอนสาขาวิชาขาดแคลน
จัดสอนได้ถึงระดับปริญญาตรี
๘.
รื้อปรับระบบการกำหนดตำแหน่งครุในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อจำแนกความก้าวหน้าในสายงาน
ระหว่างครูกับผู้บริหารสถานศึกษาให้มีสายวิชาชีพที่ชัดเจน
แต่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้
โดยเฉพาะครูสามารถก้าวหน้าตามสายงานการสอนในระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ด้วยผลงานของตัวเอง
ทั้งนี้กำหนดให้มีคู่มือปฎิบัติงานของครูและคู่มือปฎิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษา
๙.
กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู โดยให้คุรุสภา คณะกรรมการ ข้าราชการครู และสถาบันผลิตครู
ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและให้มีมาตรการพัฒนาวิชาชีพ
โดยการกำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพครู
๑๐.
ปฏิรูประบบสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของครูทุกประเภท ทุกสังกัด
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครู ส่งเสริมขวัญกำลังใจและความมั่นคงในอาชีพให้กับครู
รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆของครู
โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนแก่ครูที่สอนในถิ่นทุรกันดารครูที่สอนหลายชั้นเป็นพิเศษ
๑๑.
พัฒนาระบบและกลไกในการเลือกสรรบุคคลเข้าเรียนในสถาบันผลิตครู
พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนในการผลิตครู ทั้งที่ครูสอนหลายวิชา
และครูเฉพาะวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อให้ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิเคราะห์
สังเคราะห์ และมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งให้มีการปรับปรุงวิธีการสอบคัดเลือก
และการบรรจุครูประจำการ โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์
และเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทั้งนี้ไม่ควรบรรจุครูที่มาจากสถานศึกษาเอกชนระหว่างปีการศึกษา
๑๒.
เร่งรัดการพัฒนานักบริหารลอดจนทักษะในการบริหาร และการจัดการ
เพื่อให้สามารถพัฒนาโรงเรียนและสถานศึกษาให้มีคุณภาพ
ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
๑๓.
ให้ศึกษานิเทศก์ทุกสังกัดผนึกกำลังทำงานร่วมกันโดยการนิเทศ
ติดตามงานวิชาการในสถานศึกษาทุกสังกัด
จะเห็นได้ว่า
แผนการพัฒนาสำคัญที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานในระดับชาติดังกล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนากำลังคนของชาติ
ทั้งทางด้านการพัฒนาระบบและกลไกในการเลือกสรรบุคคลเข้าเรียนครู การพัฒนากระบวนการฝึกหัดครู
การสร้างจิตสำนึกให้ครูมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง
การส่งเสริมขวัญกำลังใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพครู
การส่งเสริมให้ครูมีบทบาทเป็นผู้นำทางความคิดและประสานความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน
การส่งเสริมให้ครูเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องทั่วถึงและทันการณ์
รวมทั้งการส่งเสริมให้ครูมีใบประกอบวิชาชีพและมีระบบการกำกับ
ดูแลคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครู
๔. โครงการพิเศษเพื่อการปฏิรูปการฝึกหัดครู
พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สปค.)
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๙
อนุมัติให้มีการจัดตั้งโครงการพิเศษเพื่อบริหารจัดการการปฏิรูปการฝึกหัดครู
พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา (สปค.) โดยให้เป็นหน่วยงานอิสระ
ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการปฏิรูปการฝึกหัดครูฯ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ๕ ประเด็นหลักคือ
๑. การสรรหาคนเข้าเรียนวิชาชีพครู
๒. การพัฒนาคณาจารย์ทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
๓. การปฏิรูปการเรียนการสอนในสถาบันฝักหัดครู
๔. การพัฒนาครูประจำการ
๕. การจัดตั้งราชวิทยาลัยครุศาสตร์ เพื่อให้แนวทางการปฏิรูปการฝึกหัดครูสามารถดำเนินการไปได้โดยต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดตั้ง สปค. ขึ้นเป็นองค์กรภายในของ
สำนักงานคระกรรมการการศึกษาแห่งชาติที่รับผิดชอบการนำแผนหลักการปฏิรูปการฝึกหัดครูฯ
สู่การปฏิบัติ โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ได้ครูดีครูเก่งที่เป็นครูเพื่อเด็ก
ครูผู้ชี้แนวทางแห่งการเรียนรู้แก่ผู้เรียนและสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้จะพัฒนากระบวนการผลิตและการพัฒนาครู/อาจารย์
ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน การดำเนินงานจะมุ่งเป้าหมายต่อไปนี้
ก. สร้างอาชีพครู/อาจารย์เพื่อดึงดูดครูดี –
ครูเก่งให้เป็นครูอาชีพตลอดชีพ
ข.
พัฒนาครู/อาจารย์ปัจจุบันที่มีศักยภาพให้มีคุณภาพดีขึ้นและต้องการจะเป็นครู/อาจารย์ต่อไป
ค. ผลิตครู/อาจารย์แนวใหม่ที่มี่คุณภาพสูง
เป้าหมายการดำเนินงานในระยะ ๕ ปีแรก (พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕) สปค.
ดำเนินงานในลักษณะโครงการนำร่อง โดยเน้นการพัฒนาครูอาจารย์
และผู้บริหารสถานศึกษาของภาครัฐและเอกชนในระดับมัธยมศึกษา สปค.
ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้า แสวงหาแนวทางและนวัตกรรมเพื่อให้ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย
และแนวทางทั้ง ๕ ประเด็นหลักของแผนการปฏิรูปการฝึกหัดครูทีความชัดเจน
โครงการสำคัญที่ สปค. ได้ดำเนินการนำร่องในปี ๒๕๔๑ สรุปได้ดังนี้
๑.โครงการครูแห่งชาติเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมวิชาชีพครูให้มีเกียรติและเป็นที่นิยมในสังคม
ด้วยการยกย่องเชิดชูครูผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น
และสนับสนุนให้ครูดีครูเก่งได้สร้างผลงานที่มี่คุณภาพเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ
๒.โครงการคูปองวิชาการ
เป็นโครงการที่มุ่งให้ครูทุกคนมีโอกาสพัฒนาความรู้
และเทคนิคการสอนอย่างต่อเนื่องและทุกปี
๓.โครงการปฏิรูประบบการฝึกหัดครูในรูปแบบที่หลากหลาย
เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาระบบการฝึกหัดครูให้มีคุณภาพและมีความหลากหลาย
เพื่อผลิตครู/อาจารย์แนวใหม่
๔.โครงการจัดระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน
เพื่อจัดระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ
ใน ๔ สาขาวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
๕.โครงการอาสาเยี่ยมสถานศึกษา
เพื่อเปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างบรรยากาศการพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในสถานศึกษา
ด้วยการให้บุคคลชั้นนำจากหลากหลายอาชีพเยี่ยมสถานศึกษา
ซึ่งโครงการทั้ง ๕
โครงการเมื่อเชื่อมโยงสู่บันไดวิชาชีพครูจะสัมพันธ์กันดังนี้
บันไดขั้นที่ ๑ปฏิรูประบบการฝึกหัดครูในรูปแบบที่หลากหลาย
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการฝึกหัดครูให้มีคุณภาพและมีความหลากหลายเพื่อผลิตครู/อาจารย์แนวใหม่
บันไดขั้นที่ ๒ ครูแนวใหม่ คือ ครูประจำการที่มีอายุราชการ ๑-๓ ปี
ที่มีคุณสมบัติกับครูแนวใหม่ จะได้รับการสนับสนุนให้ทำงานพัฒนาวิชาชีพครูของตนเอง
บันไดขั้นที่ ๓ คูปองวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้วยวิธีการใหม่ๆ
เพื่อให้ครูได้รับการพัฒนาความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการเป็นครู
บันไดขั้นที่ ๔ ครูแห่งชาติ
เพื่อส่งเสริมวิชาชีพครูให้มีเกียรติและเป็นที่นิยมสูงสุดในสังคม
บันไดขั้นที่ ๕ ราชวิทยาลัยครุศาสตร์
เป็นชุมชนทางวิชาการที่สร้างคุณค่า วางมาตรฐาน ส่งเสริมองค์ความรู้ทางการศึกษา
ตลอดจนศักดิ์ศรีและศรัทธาของวิชาชีพครู
นอกจากนี้ มีโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษา คือ
การจัดระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน เพื่อครูและผู้บริหารได้ทราบถึงระดับของโรงเรียนโดยเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นและโครงการอาสาเยี่ยมสถานศึกษา
เพื่อดึงบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานศึกษาและการเรียนการสอนต่อไป
ที่ผ่านมา สปค. ประสบปัญหาด้านความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติพอสมควร สปค.
เป็นหน่วยงานที่คิดแนวนโยบายและให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและทรัพยากร
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำการนำแนวคิดไปปฏิบัติ
ซึ่งยังไม่ได้รับความร่วมมือในการนำแนวคิดดังกล่าวจากหน่วยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาวิชาชีพครุ
โดยกำหนดไว้ทั้งแนวนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้ในแผนงานสำคัญระดับชาติ
ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ
และแผนพัฒนาการศึกษาทุกฉบับ
รวมทั้งกำหนดเป็นพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งองค์กรที่ดูแลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของครูและพระราบัญญัติเพื่อจัดตั้งองค์กรที่ดูแลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของครูและพระราชบัญญัติเพื่อการจัดตั้งองค์กรการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู
และมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อตั้งหน่วยงานดูแลการปฏิรูปการฝึกหัดครูโดยเฉพาะ
แต่เนื่องจากปัญหาด้านวิชาชีพครูเป็นปัญหาที่ได้รับการสั่งสมมานาน
การแก้ปัญหาคงต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย
ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในระดับประเทศ
ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายและกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน
ประกอบกับระบบการบริหารทางการศึกษาต้องเอื้อให้ครูและผู้ได้รับผลจากวิชาชีพครูโดยตรง
ซึ่งก็คือ ประชากรของประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและกำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง
(มาตรา ๗๘)
ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและการแก้ไขปัญหาวิชาชีพครูได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้อง
และแก้ไขปัญหาวิชาชีพครูได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้อง
และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล
บรรณานุกรม
ดร.ดิเรก
พรสีมา.
การพัฒนาวิชาชีพครู. โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล กรุงเทพฯ.
สภาพปัจจุบันและปัญหาวิชาชีพครู.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : wwweduc105.wordpress.com/สภาพปัจจุบันและปัญหาวิชาชีพครู
(26 มกราคม 2556).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น